ครม.เคาะจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม SSF ทดแทนกองทุน LTF หักลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินพึงได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ถือยาว 10 ปี พร้อมเปิดกว้างให้ลงทุนหลักทรัพย์ทุกประเภท ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนไทยระบุ รัฐรวมวงเงินลงทุนในกองทุน ที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ เหลือแค่ 5 แสน จากเดิม 1 ล้านบาท ทำให้คนรายได้ปานกลางที่มีศักยภาพในการออมสูง อาจเลือกออมน้อยลง
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ Super Savings Fund (SSF) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อจูงใจให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว
สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน SSF ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาวที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่สิ้นสุดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 มีดังนี้ 1.ให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ อายุอื่นๆ อาทิ กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
2.กองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท 3. ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน 4. ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ และ 5.เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้จะสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (2563-2567) โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF ได้แก่ การปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จากเดิมไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน โดยกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ อาทิ กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออมได้มากขึ้น
ทั้งนี้ยังยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF จากเดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลแยกวงเงินลดหย่อนภาษีของกองทุนใหม่ เพื่อสนับสนุนนักลงทุนที่วางแผนในระยะยาวแต่อย่างไรก็ตาม กองทุน SSF ที่ออกมานั้น เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการส่งเสริมการออมของคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการจัดตั้งกองทุน SSF และการปรับเงื่อนไขกองทุน RMF คือกลุ่มคนที่รายได้ยังไม่สูงมากนัก เพราะคนกลุ่มนี้จะสามารถลงทุนสูงสุดได้ถึง 30% ของเงินได้พึงประเมิน ในแต่ละกองทุน (จากเดิม 15%) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะการออมควรเริ่มตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน
แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลเอาวงเงินลดหย่อนของกองทุนเพื่อการออมทุกประเภทมารวมกัน และกำหนดเพดานเงินลงทุนที่นำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท (จากเดิม 1 ล้านบาท) เพราะจะทำให้คนรายได้ปานกลางที่มีศักยภาพในการออมสูง อาจเลือกที่จะออมน้อยลง ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐบาลต้องการจะให้ออมมากๆ ถ้าส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะไม่ออมเต็มที่ในเวลานี้ ก็จะทำให้เงินออมของทั้งระบบไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร.